งานจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (EAP) เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี

Narrative Description

     เขื่อนกระเสียว ตำบลด่านช้าง อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี มีลักษณะเป็นเขื่อนดินถมชนิดแบ่งส่วน (Zone Type Dam) สันเขื่อนยาว 4,250 เมตร สูง 32.5 เมตร กว้าง 8 เมตร ระดับสันเขื่อน +92.5 ม.รทก. ปริมาณน้ำเก็บกัก 240 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันแม้ตัวเขื่อนจะมีความปลอดภัยและมีการออกแบบมาเป็นอย่างดี แต่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยธรรมชาติ รวมทั้งเขื่อนมีพื้นที่รับน้ำปริมาณมากเนื่องจากเพิ่มความจุ ประกอบกับลักษณะของการเกิดอุทกภัย จากการพิบัติของเขื่อนมีลักษณะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉินสำหรับชุมชน (Emergency Action Plan: EAP) จากการพิบัติของเขื่อนในกรณีต่าง ๆ รวมถึงกรณีเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำของเขื่อนในปริมาณมาก เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของประชาชนในพื้นที่ต้นท้ายน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้
1) ศึกษาลักษณะน้ำหลากไหลลงอ่างเก็บน้ำที่เป็นไปได้ในรอบปีต่างๆ จนถึงปริมาณมากขั้นรุนแรง (Extreme Event)
2) เพื่อวิเคราะห์รูปแบบการพิบัติของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ทั้งในสภาวะปกติและสภาวะแผ่นดินไหว และโอกาสที่จะเกิดการพิบัติของเขื่อนในรูปแบบต่าง ๆ
3) เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการพิบัติของเขื่อนในรูปแบบและกรณีต่าง ๆ ในเชิงปริมาณ(Quantitative Risk Assessment) เพื่อนำมาประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP)
4) เพื่อศึกษาการเคลื่อนตัวของน้ำหลากและผลกระทบที่เกิดจากการระบายน้ำในรอบปีต่าง ๆ จนถึงปริมาณมากขั้นรุนแรง (Extreme Event) และกรณีเขื่อนพิบัติ โดยสภาพพื้นที่ท้ายน้ำอยู่ในสภาวะปกติ สภาวะอุทกภัย 
และสภาวะอุทกภัยรุนแรง และแสดงผลในรูปแบบแผนที่ และภาพ เคลื่อนไหว อย่างน้อย 2 มิติ
5) การวิเคราะห์ความต้านทานต่อการพิบัติในกรณีแผ่นดินไหว ด้วยวิธีพลศาสตร์ (Dynamic)
6) เพื่อจัดทำเกณฑ์ความปลอดภัยเขื่อนและเพื่อการเตือนภัย จากข้อมูลเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน
7) ศึกษาออกแบบเบื้องต้นของระบบเตือนภัย ประกอบด้วย สถานที่ตั้งหอเตือนภัย ระบบโทรมาตรเพื่อการเตือนภัย เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน รวมทั้งประมาณราคา
8) เพื่อศึกษากำหนดแนวทางการดำเนินงาน รูปแบบแผนปฏิบัติการขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเขื่อนและประชาชนด้านท้ายน้ำ ทั้งในกรณีสภาวะปกติ ก่อนการได้รับผลกระทบ เมื่อได้รับผลกระทบ และหลังการได้รับผลกระทบ จากเขื่อนพิบัติหรือการระบายน้ำปริมาณมาก เพื่อลดความเสียหายและการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
9) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP) สำหรับชุมชน จากการพิบัติของเขื่อนกรณีต่าง ๆ รวมถึงกรณีเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำของเขื่อนในปริมาณมากเกินความจุลำน้ำด้านท้ายที่เป็นสากลและสอดคล้องกับการดำเนินงานในประเทศไทย
10) เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการเขื่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ทั้งในกรณีปกติ และฉุกเฉิน และรองรับการผันน้ำเชื่อมโยงระหว่างเขื่อน

Services Description

1) รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลด้านอุทกวิทยา ข้อมูลด้านวิศวกรรมของโครงการ ข้อมูลโครงการระหว่างการก่อสร้าง และเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน เพื่อใช้ในการวิเคราะห์การพิบัติของเขื่อน
2) ดำเนินการตรวจสภาพเขื่อน สำรวจภูมิประเทศเพื่อจัดทำผังบริเวณ 
รูปตัดตามยาวและตามขวางของตัวเขื่อน 
3) ศึกษาลักษณะของความเสียหายของเขื่อนที่อาจเกิดขึ้น ในด้านขนาด รูปร่าง ระยะเวลาในการเกิดความเสียหาย โดยใช้ข้อสมมติฐานในการวิเคราะห์และขบวนการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่เหมาะสมและทันสมัย
4) ศึกษากราฟน้ำหลากจากการระบายน้ำมากกว่าปกติ และที่เกิดจากความเสียหายของเขื่อน โดยการศึกษาครอบคลุมปัจจัยด้านลักษณะทางเรขาคณิตและพื้นที่ผิวน้ำ ระดับน้ำด้านท้ายน้ำและปัจจัยอื่น ๆ เพื่อให้ได้กราฟน้ำหลากและค่าอัตราการไหลสูงสุด โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ ที่เหมาะสมและทันสมัย
5) ศึกษาผลกระทบจากการพิบัติของตัวเขื่อนในกรณีต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ ทั้งกรณีเกิด และไม่เกิดแผ่นดินไหว โดยครอบคลุมขอบเขตพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ การประเมินความเสียหายในรูปแบบพื้นที่ จำนวนอาคารสถานที่ ประชากรที่มีความเสี่ยง จำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นไปได้ และมูลค่าความเสียหาย
6) สำรวจภูมิประเทศในพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยสำรวจเพิ่มเติมที่จำเป็น กำหนดแสดงลำน้ำ รูปตัดลำน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ ถนน และอื่น ๆ เพียงพอในการทำแบบจำลองและเตือนภัย
7) รวบรวม และสำรวจเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยเป็นปัจจุบัน เพื่อจัดทำแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังเมือง แนวโน้มการพัฒนาที่ดินของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนพิบัติ และการปล่อยน้ำเป็นปริมาณมาก รวมทั้งสำรวจตรวจสอบความเสียหายของพื้นที่น้ำท่วม 
8) รวบรวม ตรวจสอบความถูกต้องของแผนที่ DEM ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตราส่วน 1:4,000 และสำรวจเพิ่มเติมเพื่อจัดทำแผนที่ภูมิประเทศ ในรูปแบบ Digital Map เพื่อสนับสนุนต่อการศึกษาการเคลื่อนตัวของน้ำหลาก
9) ศึกษาการเคลื่อนตัวของน้ำหลากโดยวิธีชลศาสตร์ โดยจัดหาและใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ที่มีการคำนวณโดยแสดงผลอย่างน้อย 2 มิติ และแสดงผลในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวของน้ำหลากในพื้นที่ เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่ท้ายน้ำกรณีก่อนการเกิดการพิบัติของเขื่อน ในสภาวะปกติ สภาวะอุทกภัย และสภาวะอุทกภัยในระดับรุนแรง
10) ศึกษาพฤติกรรมและความต้านทานต่อการพิบัติ ภายใต้สภาวะแผ่นดินไหวของเขื่อนด้วยวิธีพลศาสตร์ (Dynamic Method) โดยใช้แบบจำลอง 3 มิติ 
11) ประเมินความเสี่ยงต่อการพิบัติของเขื่อนเป็นเชิงปริมาณ (Quantitative Risk Assessment) แสดงโอกาสเกิดการพิบัติ (Probability of Failure) และผลกระทบจากการพิบัติในกรณีต่าง ๆ 
12) ศึกษาจัดทำแผนปฏิบัติการบริหารจัดการเขื่อน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในกรณีปกติและฉุกเฉิน และรองรับการผันน้ำเชื่อมโยงระหว่างเขื่อน โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านความปลอดภัยเขื่อน และการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเสนอเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนที่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม
13) จัดทำแนวคิดและข้อเสนอแนะ (Conceptual Design) เพื่อป้องกันการพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับตัวเขื่อน
14) จัดทำแผนที่ขอบเขตน้ำท่วม (Inundation Map) จากการพิบัติของเขื่อนและการระบายน้ำ ปริมาณมาก เพื่อแสดงรายละเอียดของความลึกน้ำ ความเร็วการไหล ระยะเวลา และระดับความรุนแรงของอุทกภัยของพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งแบ่งเป็นพื้นที่ย่อย (Zone) สำหรับการวางแผนการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
15) ศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (Emergency Action Plan: EAP) สำหรับชุมชน ในกรณีเกิดการพิบัติของเขื่อน รวมถึงกรณีเกิดอุทกภัยจากการระบายน้ำของเขื่อนในปริมาณมากและ จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน
16) กำหนดเกณฑ์ความปลอดภัยของเขื่อนจากเครื่องมือวัดพฤติกรรมทั้งที่ติดตั้งไว้แล้วและที่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถบ่งบอกสถานะความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนเป็นระดับได้
17) ออกแบบเบื้องต้นระบบเตือนภัยเพื่อความปลอดภัยของตัวเขื่อนและประชาชนที่อาศัย ด้านท้ายน้ำ โดยอย่างน้อยประกอบด้วยสถานที่ตั้งหอเตือนภัย เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน ระบบโทรมาตร และอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต้องติดตั้งเพิ่มเติม รวมทั้งประมาณราคา
18) จัดทำแนวทางป้องกันหรือการดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยง (Risk Reduction) ทั้งการลดโอกาส (Probability) และการลดผลกระทบ (Consequence) จากการพิบัติของเขื่อนและการระบายน้ำมาก
19) ศึกษาและจัดทำแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หน่วยงานของรัฐ ในการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยของเขื่อนและอาคารประกอบ
20) จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ อย่างน้อย 2 ครั้ง รวมกันไม่น้อยกว่า 200 คน
21) ถ่ายทอดความรู้เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เพื่อถ่ายทอดความรู้การใช้โปรแกรมแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อจัดทำแผนที่น้ำท่วม ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ 
22) ถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ในการจัดทำเกณฑ์เครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อน
23) ถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ในการประเมินความเสี่ยงต่อการพิบัติของเขื่อน อย่างน้อย 1 ครั้ง ไม่น้อยกว่า 20 คน
24) ถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่กรมชลประทานและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการใช้แผนการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย 
25) ถ่ายทอดความรู้เจ้าหน้าที่กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อซักซ้อมและถ่ายทอดการใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉิน 
26) จัดทำเอกสารทางวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการประชุมหรือเผยแพร่ ด้านวิชาการของกรมชลประทาน

Name of Project งานจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการกรณีฉุกเฉิน (EAP) เขื่อนกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี
Location จังหวัดสุพรรณบุรี
Client กรมชลประทาน
Duration พฤศจิกายน 2567 – พฤศจิกายน 2568
Project Cost